ที่มา | เสาร์ประชาชื่น มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | อธิษฐาน จันทร์กลม |
เผยแพร่ |
“…ฉันจำเด็กสาวแสนโรแมนติกคนนั้นได้ เธอยังอยู่ในร่างฉัน
บ่อยครั้งฉันอาศัยเธอนำฉันออกไปจากโลกความจริง…
งานเขียนหลายชิ้นของฉันเขียนขึ้นโดยเธอ แต่ไม่ใช่เรื่องสั้นชุดนี้
ฉันเก็บเธอไว้ในห้องลับ นี่ไม่ใช่เวลาของเธอ”
คือส่วนหนึ่งจากคำนำ “แตกเป็นแตก” ผลงานล่าสุดจากปลายปากกาของ อุรุดา โควินท์ หรือ “ชมพู” เจ้าของผลงาน “หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา” ที่การกลับมาหนนี้ สลัดภาพความโรแมนติกและอ่อนโยนให้สิ้นไปอย่างไร้เยื่อใย
ก่อนจะจูงมือนักอ่านไปพานพบกับความร้าวรานของชีวิต ที่เลือกจะ “ยอมหัก ไม่ยอมงอ”
“ยี่สิบปีที่ผ่านมาฉันใช้ชีวิตกับบาดแผล ชิ้นส่วน และเถ้าถ่าน โดยรู้สึกถึงลมหายใจสดชื่น
“พรุ่งนี้ยังมี” ฉันรอวันพรุ่งนี้เสมอ ไม่ว่ามันจะดีกว่าวันนี้หรือไม่
รอเพื่อที่จะเห็น เผชิญหน้า และแน่นอน หากจำเป็น ฉันพร้อมแตกหัก (อีกครั้ง)”
ก่อนจะเกิดขึ้นใหม่ เพื่อลูบไล้หัวใจที่มีร่องรอยได้อย่างรักใคร่ได้อย่างมีความหวังในโลกที่มืดมิด
ฮาเร็มของซาโลเม่, ตาย-จาก, ที่นี่ไม่มีอะไร, มากกว่าหมื่นครั้ง, ชายผู้ยืนแกว่งแขน, อย่างราบรื่น, เป็นอื่น และ บ้าน
คือ 8 เรื่องราว ที่จะขอพาก้าวขาข้ามไปสู่เบื้องหลังของพรมแดนแห่งความลับในทุกบรรทัดต่อจากนี้
แตกเป็นแตก คือเรื่องราวของอะไร ?
ถ้าจะบอกว่าเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่แตกหัก ก็จะชัดเกินไป แต่ไม่ว่าเราจะหยิบประเด็นอะไรมาพูดในเรื่องเล่า จะผ่านความสัมพันธ์เสมอ ต้องมีคน 2 คน 3 คน 4 คน แน่นอนว่าจะมีความสัมพันธ์อยู่ในเล่มนี้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นความสัมพันธ์ที่แตกหักในต่างระดับกัน หลายความสัมพันธ์ พ่อกับแม่ แม่กับลูก ชู้รัก แฟนเก่า กิ๊กเก่า เพื่อน คนกับบ้าน คนกับหมา คนกับอะไรสักอย่างในตัวเขา
แต่คำว่าแตกหักในความหมาย ไม่ได้แตกแบบสูญสิ้น ยับเยิน แตกสลาย มันเป็นการแตกเพื่อจะกลายเป็นสิ่งใหม่ ถ้าคิดดูดีๆ จะมีหลายเรื่องในชีวิตที่เราได้ประนีประนอม อดทน และทำอย่างถึงที่สุด จนถึงจุดหนึ่งเราก็รู้สึกว่า มันไม่สามารถจะเป็นสิ่งนี้ได้อีกแล้ว เรารู้สึกว่าเราไม่ไหวแล้ว ถ้าเราจะอยู่แบบคาราคาซัง หวานอม ขมกลืน หรือไร้เกียรติแบบนี้ ฉะนั้น เราก็จะแตกมันออกไปซะ เพื่อที่เราจะเป็นสิ่งใหม่ แยกออกจากสิ่งเดิมในความหมายที่ไม่ใช่การทำลาย แต่คือการพยายามรักษาจนไม่สามารถรักษาไว้ได้อีก
แยกออกมาเพื่อที่จะหลุดพ้น เปลี่ยนเป็นคนใหม่ สิ่งใหม่ ทำเรื่องใหม่ นี่คือคอนเซ็ปต์ของทั้งเล่ม
ทำไมสลัดภาพความโรแมนติกออกไป เกิดอะไรขึ้น ?
เป็นความตั้งใจ ที่จะเอาอีกด้านขับออกมาในงานเขียนให้เป็นเซตเดียวกัน จริงๆ สิ่งนี้มีอยู่ในตัวทุกคน เชื่อว่าทุกคนมีด้านที่พร้อมจะแตกหัก มีด้านที่แข็งแกร่ง มีด้านที่พร้อมจะตัดสินใจ แต่ว่าเราจะใช้มันหรือเปล่า ในงานเขียน บางทีเราก็จะเลือกขับเน้นส่วนใดส่วนหนึ่งที่อยู่ในตัวเราออกมาให้ชัด ให้งานนี้มีสีชมพู ให้งานนี้มีสีแดง เล่มนี้ก็เลือกใช้ด้านนี้เพราะเข้ากับคอนเซ็ปต์ ทั้ง 8 เรื่อง ใช้ภาษา วิธีเล่าที่ไม่เยิ่นเย้อ ที่เคยกระชับแล้วก็จะกระชับขึ้นอีก
ทำไมหนนี้ถึงเลือกใช้รูปแบบเรื่องสั้น ?
ไม่ได้เขียนเรื่องสั้นนานมาก ซึ่งความจริงแล้วเป็นคนเกิดกับเรื่องสั้น ก็เลยเลือกเขียน แต่เรื่องสั้นไม่ใช่สิ่งที่นักเขียนไทยจะสามารถยึดเป็นอาชีพได้ สนามเรื่องสั้นมีน้อย แต่เรื่องสั้นเป็นสิ่งที่รักมาก ชอบอ่านเรื่องสั้นเพราะรู้สึกว่าได้กำไร ในฐานะคนอ่านนะ แต่ในฐานะคนเขียนขาดทุน (หัวเราะ) เพราะ 8 เรื่องนี้สามารถขยายเป็นนิยายได้หมด แต่เรื่องสั้นจะเน้นการสื่อสาร ใช้เวลาสั้นๆ เพื่อที่จะสื่อสารอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดหนึ่งลงไป ให้คนอ่านสามารถอ่านได้ 5-10 นาที จบ แล้วเขาก็จะเปลี่ยนอะไรบางอย่างในตัว หรือว่าได้สิ่งใหม่ นี่คือเสน่ห์
“ความสัมพันธ์” มีอิทธิพลกับคนมากขนาดนั้นเลยหรือ จากประสบการณ์ส่วนตัว ส่งผลต่อชีวิต หนักหนา-สุขสมแค่ไหน ได้เรียนรู้อะไร ?
ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า โลกเชื่อมโยงกันด้วยความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ที่ดีก็จะขยายออกไปเป็นความสัมพันธ์ที่ดี ที่แย่ก็จะขยายออกไปสู่เพื่อนของเรา สู่คนที่เราไว้ใจ กลายเป็นมวลความสัมพันธ์ที่ไม่ดี ความสัมพันธ์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการใช้ชีวิตจริง ถ้าเข้าใจว่าเราควรจะบริหารอย่างไร อยู่กับมันอย่างไรก็จะทำให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น หรืออย่างน้อยเวลาที่เราเจ็บปวด ก็จะเข้าใจมากขึ้นว่าเกิดจากอะไร
หนังสือความหนา 120 หน้านี้ พิเศษอย่างไร อ่านแล้วจะได้รู้อะไร?
จะได้เห็นความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีในหลายความสัมพันธ์ ที่เกิดขึ้น ดำเนินไป จบลงอย่างไร คลี่คลายไปทางไหน ในหลายระดับความสัมพันธ์ในตัวละครจะสะท้อนความสัมพันธ์ในชีวิตจริงของเรา
เพราะเราไม่มีโอกาสใช้ชีวิตของคนอื่น บางทีเราไม่สามารถไปยืนในมุมของเขา มองลงมาแล้วเห็นหรือเข้าใจอะไร แต่เราก็มีโอกาสที่จะเข้าใจเขา เราอาจไม่เคยเป็นเมียน้อย แต่เราไปอ่านมุมมองของเมียน้อยจากเรื่องๆ หนึ่ง ก็จะเกิดการเข้าใจตัวละคร ส่งผลถึงความเข้าใจคนในชีวิตจริง ทำให้เรารู้ว่า เฮ้ย! เราไม่มีสิทธิที่จะไปตัดสินโดยทันทีจากมุมของเรา เพราะทุกคนมีรายละเอียดในชีวิตที่แตกต่างกัน
อาจจะเป็นเพื่อนสำหรับคนที่กำลังรู้สึกว่า อีกนิดหนึ่งฉันจะไม่ไหวแล้วนะ ถึงจุดที่จะแตกหักแล้ว หรือว่าคนที่แตกหักไปแล้วมาอ่าน ก็จะรู้สึกได้ว่า เขาไม่ใช่คนเดียว
ที่อยากบอกมากที่สุดคือ บางครั้งการที่เราสูญเสียความสัมพันธ์นั้นไป มันเป็นการได้รับอีกชนิดหนึ่ง แต่เราต้องเห็นว่าเราได้อะไรมาจากการแตกหัก จากการสูญเสียนั้น ในทิศทางหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปเราจะรู้ว่าเราได้รับ มากกว่าที่เราเสียไป
ส่วนตัวมองว่า “หัวใจ” ที่มีร่องรอย เกิดได้จากอะไรบ้าง?
เราเจ็บกับอะไรมาบ้าง บางทีก็เป็นความสูญเสีย บางทีเราก็โดนกระทำย่ำยี เพราะทุกคนมีจุดอ่อนที่ตัวเราจะรู้ดีที่สุด บางคนเขาก็ทิ่มแทงจุดอ่อนนั้นของเราโดยที่ไม่รู้ตัว หรือบางทีก็รู้ตัว ทำให้เกิดแผลชนิดหนึ่ง ซึ่งการสูญเสียคนรัก ของรักก็เป็นแผล แผลคือสิ่งที่เราเสียน้ำตาให้กับมัน คือร่องรอยที่ถูกสร้างข้างในหัวใจ ให้เป็นความทรงจำที่จะสะสมอยู่ในตัวเราและทำให้ตัวเราค่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ
เหมือนต้นไม้ เวลาเราเอามีดไปกรีด มีแผล แต่ไม่ตาย เราตัดกิ่งนี้ทิ้ง ก็จะแทงกิ่งอ่อนๆ แยกออกมาใหม่ เกิดการเปลี่ยนแปลงในต้นไม้ต้นนั้น บาดแผลในตัวคนก็คล้ายกัน
ส่วนตัวมีวิธีรับมือกับการแตกหักอย่างไร?
บางทีก็อยู่เฉยๆ นะ ขึ้นอยู่กับกรณี บางเรื่องก็ง่ายมาก ไปเอฟเสื้อผ้าสวยๆ สักชุด เราก็ดีขึ้น มันไม่ได้หาย แต่ดีขึ้นสัก 1 ชั่วโมง ทำให้เราออกไปจากหลุม คนเราเวลาคิดจะจม สิ่งนี้คือปัญหา อะไรที่เราทำได้ อาจฉาบฉวย แต่เหมือนกับการนิพพานชั่วคราว (หัวเราะ)
เมื่อเราใช้ชีวิตมาถึงจุดหนึ่ง เจอเรื่องแบบนี้บ่อย จะเข้าใจได้เองว่า ต่อให้เราอยากจะอยู่อย่างนี้ตลอดไป ก็จะเปลี่ยน อารมณ์ของคนไม่มีวันจะอดทนอยู่กับความโศกเศร้า ความน้อยใจได้นาน อย่างไรมันก็ต้องไป จะเลือกเหลือเฉพาะตะกอน ทรายสักเม็ดหนึ่ง ซึ่งนั่นเรียกว่าเป็นประสบการณ์ ที่เราจะเก็บไว้ ถ้าเรามีวิธีคิดนี้อยู่ในตัวเราจะเป็นคนไม่จมจ่อมกับปัญหาและความเศร้า ถ้าเรามีวิธีคิดว่าเดี๋ยวมันก็ต้องไป เราดีใจก็อยากจะดีใจตลอดไป แต่อย่างมาก 2 วัน เดี๋ยวมันก็ค่อยๆ จางหายไป จนกว่าเราจะต้องรอการดีใจครั้งใหม่ ความทุกข์หรือการสูญเสียก็ทำนองเดียวกัน เราก็แค่รอเวลา
เวลาที่เศร้ามาก การที่มีใครสักคนรับฟังจริงๆ เหมือนได้เอาน้ำหนักของความทุกข์นี้ออกไปครึ่งนึงแล้ว ไม่ต้องมีคำแนะนำอะไร ส่วนที่เหลือเดี๋ยวเวลาจะจัดการเอง สักวินาทีหนึ่ง บางทีเราไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ ดูง่ายๆ ความโกรธจะเป็นสิ่งที่เห็นชัดที่สุด โกรธฉิบเป้งเลยวันนี้ (หัวเราะ) ใส่กัน ฟาดกันไม่หยุด บทจะดีกัน วินาทีเดียวเองนะ มันหายวับเลย ทั้งๆ ที่ใจจริงอยากจะโกรธต่อ อยากจะน้อยใจต่อ ความรู้สึกแบบนี้ วินาทีแบบนี้ให้จำไว้ รอวินาทีนั้น ที่มันจะเปลี่ยน นี่คือวิธีแก้ไขในปัจจุบัน
พอเศร้าไปสักพัก เราจะเริ่มอึนๆ กับความเศร้านั้น แล้วจะคิดได้เอง ไม่มีใครมีสติในทันทีเพราะอารมณ์ต้องมาก่อนทุกเรื่อง ก็ปล่อยให้มันฟาดไป เป็นคนอย่างนี้ ฟาดก็ฟาดฟาดไป ฟาดเท่าที่ฟาดได้ แล้วก็จะกลับมาจัดการตัวเอง (หัวเราะ)
ชื่อเรื่องมาจากเพลงมาช่า หรือป่าว “แตกเป็นแตก แบกเอาไว้ก็หนัก”?
จริงๆ ตอนที่คิดชื่อไม่ได้คิดถึงเพลงมาช่า แต่พอเขียนลงไปปุ๊บ ทุกครั้งที่อ่านต้องมีทำนอง (หัวเราะ)
สิงที่แปลกคือ แม้แต่ในอีกเจเนอเรชั่น ก็ยังรู้จักเพลงนี้ เข้ากับอารมณ์ของเรื่องที่ไม่ได้โหดร้ายจนเกินไป จริงๆ มันประมานเพลงนั้นนะ แบบแตกแล้วสบายใจ ให้มันแตกไปเลย จะได้โล่ง
คนเรามีเหตุผลอะไรที่จะเลือก “ยอมหักไม่ยอมงอ” กับสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ ถ้าบริหารด้วยการ ยอมหักไม่ยอมงอ จะเป็นอย่างไร?
บางทีผู้บริหารอาจไม่มีโอกาสเลือกมากนัก นี่ก็เป็นหนึ่งความสัมพันธ์นะ สิ่งที่เกิดขึ้นมันค่อยๆ เกิดขึ้นจากการสะสมทีละเล็ก ละน้อย ไม่ได้เกิดจากมีใครสักคนไปพูด หรือมีแฮชแท็กหนึ่งใด แล้วก็บูม กลายเป็นสิ่งนี้ขึ้นมา มันเกิดขึ้นจากการที่เขาได้อดทนแล้ว เขาได้พยายามอย่างถึงที่สุดแล้วพี่จะรอ หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งทุกคนเกิดความรู้สึกนี้ร่วมกัน แต่อาจจะยืนคนละที่ละทางแล้วไม่ได้คุยกัน จนกระทั่งมันเกิดสิ่งนี้ขึ้นมา
ถ้าชัดขนาดนี้แล้ว โครงสร้างผู้บริหารก็น่าจะเห็นว่า เขาไม่ได้เหลือทางเลือกมากนัก และทางเลือกที่รุนแรงก็ไม่น่าจะเป็นทางที่ถูกต้อง เพราะต้องแย่กว่าเดิมอีก เขาคงมองออก คงต้องเลือกจะทำอะไรสักอย่าง แต่ถ้าคุณทำอะไรกับเด็ก 1 คน เท่ากับไปทำร้ายคนอีกอย่างน้อย 2 คน เป็น 3 คน กระทบหลายความสัมพันธ์ ไม่เหลือทางเลือกมากนัก คงต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่เขาจะเปลี่ยนอย่างที่เขาคิดว่าเขาสามารถทำได้ ถ้าให้เดานะ
คำว่า “บ้าน” ในมุมมองของอุรุดา คืออะไร?
บ้านคือความมั่นคงทางจิตใจ คือสถานที่ที่สามารถอยู่แล้วแสดงทุกอย่างได้อย่างเต็มศักยภาพ มันควรจะเป็นที่ที่ปราศจากความกลัวด้วย จะต้องไม่กลัวว่าแก้ผ้าเดินแล้วแม่จะมาว่า อยากจะพูดอะไรก็พูด บ้านมันควรต้องเป็นอย่างนั้น คนที่อยู่ร่วมกับเราในบ้านก็ต้องยอมรับสิ่งนี้ของเรา ถึงจะอยู่กับเราได้โดยที่ไม่อึดอัด
ถ้าขยายขอบเขตนี้ออกไปเป็นบ้านหลังใหญ่ คือ ประเทศ ก็คงจะเป็นสถานที่ประมาณเดียวกัน ที่คนทุกคนสามารถอยู่ด้วยกันโดยที่ไม่ต้องกลัว ถ้าเราต้องกลัวไปหมดว่า อันนี้ก็พูดไม่ได้ อันนี้ก็ทำไม่ได้ ไปโรงเรียนครูห้ามเรื่องนี้ อยู่บ้านแม่ห้ามเรื่องนี้ อ้าว! มันก็เหลืออีกไม่กี่ที่ที่จะทำให้เราอยู่แล้วสบายใจ ทำให้บ้านที่ควรจะใหญ่ เล็กลง แล้วเราก็ไม่รู้เลยว่า ในซอกมุมเล็กๆ เหล่านั้นมีอันตรายอะไรบ้าง
ส่วนตัวมองว่า “ความแตกต่าง” นำไปสู่ “ความแตกร้าว” หรือไม่?
ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกอะไร บางครั้งเราเลือกเองไม่ได้ ในเล่มนี้ก็มีความสัมพันธ์คล้ายๆ กัน ที่แตกต่าง ฝ่ายหนึ่งก็พยายามที่จะอดทน เอนเข้าไปหา แต่ถ้าเกิดอีกฝ่ายหนึ่งไม่พยายามมันก็ต้องหลุดออกจากกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าการหลุดนั้นคือการทำลาย ถ้าเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถหลุดออกจากกันได้ ก็ต้องหาทางที่จะการแก้ไข จะทำอย่างไร ความแตกต่างไม่ใช่การแตกแยกและแตกร้าวเสมอไป เพราะถ้าแตกต่างแล้วคุยกันดีๆ จะเกิดไอเดียใหม่ทันที คุยกันว่าอะไรคือดีที่สุด คิดร่วมกันบนสิ่งที่ดีที่สุดจากข้อแตกต่างที่มี แล้วจะได้งานที่ดีกว่าเสมอ
ความแตกต่างโดยอุดมคติ มันน่าจะทำให้เกิดสิ่งที่ดีกว่า เพียงแต่เราต้องเริ่มจากมองคนที่อยู่ตรงกันข้ามว่าไม่ใช่คนอื่น คนที่ไม่เหมือนเราไม่ใช่ศัตรู แต่คือเพื่อนเรา พี่เรา น้องเรา แม่เรา ถ้าเริ่มต้นคิดแบบนี้ เราจะฟังเขา เพราะเขาคือทีมเดียวกับเรา แต่แค่เขาคิดไม่เหมือนเรา
พรุ่งนี้” สำหรับอุรุดา อยากเห็นอะไร?
อยากให้ตัวเองสามารถรักษาความหวังไว้ได้เสมอ (หัวเราะ) ส่วนตัวชอบเขียนคำว่าพรุ่งนี้มาก นิยาย 2-3 เรื่องก็จบด้วยคำว่าพรุ่งนี้ ตั้งใจ เพราะรู้สึกว่าเป็นคำที่แสดงถึงความหวัง แม้ว่าจะไม่ค่อยมีอะไรให้หวัง แต่ก็อยากจะหวัง
ถ้าไม่มีความหวังก็ไม่รู้จะอยู่ทำไม ถ้าเราไม่อยากเห็นวันพรุ่งนี้ เราก็รู้สึกตั้งแต่ตอนนี้แล้วว่าเราไม่อยากทำอะไร ความหวังจะขับให้เกิดความเป็นจริง ที่ไม่สามารถเกิดได้จากปาฏิหาริย์ มันเกิดจากการกระทำ
ถ้าเรามองจากอดีตกาลที่ผ่านมา จะเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วสำคัญต่อโลกใบนี้ล้วนเกิดขึ้นจากคนตัวเล็กตัวน้อยที่มีความหวัง สร้างแสงสว่างขึ้นมา หลอดไฟ ที่คิดได้เป็นเพราะเขามีความหวังที่จะเห็นแสงสว่าง
หากปราศจากความหวังแล้ว จะไม่มีใครทำอะไรเลย ไม่สามารถเกิดอะไรขึ้นได้เลย
อยาก ‘อ่าน’ ก็ได้อ่าน
อยาก ‘เห็น’ ก็ได้เห็น
ท่ามกลางหยาดน้ำ ที่ปรอยลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วงฤดูฝน
อุรุดา โควินท์ ยอมรับว่า อยู่ที่เชียงรายไม่ได้เห็นแดดมาแล้วถึง 10 วัน คลับก็ต้องปิด ที่พักซึ่งเดิมเปิดรับแขกให้เข้าพัก ก็รวบยอดไปเปิดอีกทีฤดูหนาว จึงใช้เวลาระหว่างนี้ไปกับการมุ่งมั่นเขียนหนังสือ
“ความจริงเขียนงานทั้งปี แต่มีลูกค้าก็ต้องแบ่งเวลาไปทำ อยู่ต่างจังหวัดต้องสูญเสียไปกับการใช้ชีวิตเยอะ จะมีงานเล็กงานน้อยให้เราทำ เช่น ไปตลาด ทำกับข้าว กวาดใบไม้ ตัดหญ้า ตอนหลังเขียนบันทึก จดไว้ก็จะรู้ว่าทำความสะอาดบ้าน ทำกับข้าว 3 มื้อนี่ มันกินเวลาเรามาก (หัวเราะ)“
แม้จะชอบอยู่กรุงเทพฯมากกว่า เพราะสร้างแรงกดดันนิดๆ ในแง่ของการทำงาน ทำให้รู้สึกมีเอเนอร์จี้ แต่เจ้าตัวบอกว่า “ใช้เงินเยอะไป เพื่อให้ได้คุณภาพชีวิตที่ดีน้อยกว่าที่นี่”
“ที่นี่ด้วยเงินจำนวนเดียวกันจะได้คุณภาพชีวิตที่ดีมาก เป็นเหตุผลหลักที่อยู่เชียงราย แต่แน่นอนว่า มีสิ่งที่ต้องจ่าย เราจะเจอคนน้อยลง นักเขียนก็ต้องยอมรับว่าเขียนอยู่บ้านกระดิกเท้ารอให้คนมาซื้อหนังสือ ไม่ได้แล้ว (หัวเราะ) ต้องเข้าถึงนักอ่าน หาช่องทาง เปิดเพจ เปิดกลุ่ม ทำไลฟ์ พยายามเคลื่อนไหวจากโซเชียล ใช้วิธีนี้เพื่อให้นักอ่านได้เจอเราบ้าง อยากอ่านก็ได้อ่าน อยากเห็นเราเมาก็ได้เห็น (หัวเราะ)” อุรุดาเผย
ก่อนจะบอกด้วยว่า “มีไฟตลอดเวลา” เขียนทุกวัน ทั้งยังมีโปรเจ็กต์อีก 2 เล่มรออยู่
“เรื่องอยากทำงานหรือป่าว ไม่มีคำถามนี้ในหัว คำถาม คือจะเขียนยังไงให้ออกมาดี”
August 22, 2020
https://ift.tt/32dFGkV
สนทนา กับ 'อุรุดา โควินท์' ในห้วงยามแห่งความ 'แตกหัก' บน 'ความสัมพันธ์' ที่ไม่ยอมงอ - มติชน
https://ift.tt/3dDNfpA
Bagikan Berita Ini
0 Response to "สนทนา กับ 'อุรุดา โควินท์' ในห้วงยามแห่งความ 'แตกหัก' บน 'ความสัมพันธ์' ที่ไม่ยอมงอ - มติชน"
Post a Comment