เอริโกะ โคบายาชิ เพิ่งจะเสร็จสิ้นการขึ้นบรรยายงานหนึ่งในปี 2018 ตอนที่ผู้ฟังคนหนึ่ง ซึ่งเป็นหญิงสาวในวัยยี่สิบตอนต้นเดินเข้าไปหาเธอ
"เธอ (ผู้ฟัง) รักษาตัวในโรงพยาบาลหลังจากพยายามฆ่าตัวตาย" โคบายาชิเล่าให้บีบีซีฟัง
"เธอให้แหวนวงหนึ่งซึ่งมีข้อความให้กำลังใจเป็นของขวัญแก่ฉัน และเราก็กอดกัน"
โคบายาชิ เป็นผู้เขียนมังงะ หรือหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง Diary of My Daily Failures หรือ สมุดบันทึกความล้มเหลวประจำวันของฉัน ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2017
หนังสือการ์ตูนเล่มนี้ถ่ายทอดประสบการณ์ของโคบายาชิ ในฐานะผู้รอดชีวิตจากการฆ่าตัวตาย และเธอหวังว่าการ์ตูนเรื่องนี้จะแสดงให้ผู้อ่านที่กำลังมีสภาพจิตใจอันเปราะบาง ได้ตระหนักว่ายังมีคนอื่นที่มีความรู้สึกมืดมนและเศร้าใจแบบพวกเขา และสามารถก้าวข้ามมันมาได้
บีบีซีพูดคุยกับโคบายาชิเกี่ยวกับผลงานชิ้นนี้ของเธอ ก่อนถึงวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ตรงกับวันที่ 10 ก.ย. ของทุกปี
ปัญหาด้านสุขภาพจิตและความยากลำบากทางการเงินทำให้โคบายาชิพยายามจบชีวิตของตัวเองหลายครั้งนับตั้งแต่อายุ 21 ปี
โคบายาชิเชื่อว่าปัญหาของเธอเริ่มต้นมาตั้งแต่วัยเด็ก เธอเติบโตมากับการเป็นเหยื่อของความรุนแรงและการทารุณกรรม
ในหนังสือการ์ตูนของเธอ โคบายาชิเล่าถึง "ปีศาจ" ของเธอ ซึ่งรวมถึงรายละเอียดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและช่วงเวลาที่อยู่ในสถานบำบัด
"อะไร ๆ เริ่มรุนแรงถึงขั้นที่ฉันไม่สามารถนอนหลับได้อีกต่อไป และต้องฝันร้ายอยู่เสมอ" เธอเล่าย้อนถึงความหลัง
"พ่อแม่พาฉันไปพบหมอหลายคน แต่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรที่ช่วยได้เลย"
การรังแกและการขโมยของตามร้าน
โคบายาชิยังเป็นเหยื่อของการรังแกอย่างหนักที่โรงเรียน
"พ่อของฉันหาเงินเข้าบ้านได้ไม่มากนัก ฉันเลยแทบจะไม่มีเงินซื้อเสื้อผ้าใส่ไปโรงเรียน" เธอเล่า "ในหน้าหนาวฉันต้องใส่เสื้อผ้าชุดเดิมซ้ำ ๆ ซึ่งทำให้ฉันตกเป็นเป้าของเด็กคนอื่นได้ง่าย"
โคบายาชิเรียนจบมหาวิทยาลัยในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 ซึ่งเป็นยุคที่คนหนุ่มสาวในญี่ปุ่นหางานทำได้ยากลำบาก จนถูกเรียกว่า "ยุคน้ำแข็งของการจ้างงาน"
ตอนที่โคบายาชิได้งานทำที่สำนักพิมพ์แห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว หลังจากต้องเดินเตะฝุ่นและยังชีพด้วยเงินสวัสดิการจากภาครัฐอยู่หลายเดือน เธอก็ได้เข้าสู่วิถีชีวิตแบบมนุษย์เงินเดือนที่มีชั่วโมงการทำงานอันยาวนานและได้ค่าตอบแทนต่ำ
สภาพการเงินของเธอฝืดเคืองอย่างหนักถึงขั้นที่เธอต้องขโมยอาหารจากซูเปอร์มาร์เก็ตมาประทังชีวิต
ตอนนั้นเองที่โคบายาชิพยายามฆ่าตัวตายเป็นครั้งแรก
แต่เคราะห์ดีที่เพื่อนเข้ามาพบเธอนอนหมดสติอยู่ในห้องพัก แล้วนำตัวส่งโรงพยาบาลได้ทันท่วงที ก่อนที่เธอจะฟื้นขึ้นมาในอีก 3 วันหลังจากนั้น
ฆ่าตัวตาย 8 แสนรายต่อปี
การฆ่าตัวตายถือเป็นปัญหาระดับโลก โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่าในแต่ละปีมีผู้คนปลิดชีวิตของตัวเองราว 800,000 คนทั่วโลก
ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
แม้จำนวนผู้ฆ่าตัวตายโดยรวมของญี่ปุ่นลดลง แต่อัตราการฆ่าตัวตายในหมู่เยาวชนและคนหนุ่มสาวกำลังเพิ่มขึ้น
ข้อมูลจากรัฐบาลญี่ปุ่นเผยให้เห็นว่า การก่ออัตวินิบาตกรรมคือสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตในหมู่เยาวชนอายุ 10-14 ปี ในญี่ปุ่น
ในปี 2019 พบว่าการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายของผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี พุ่งแตะระดับสูงสุดนับแต่ทางการญี่ปุ่นเริ่มบันทึกข้อมูลนี้ในช่วงทศวรรษที่ 1970
ปัญหาเช่นนี้ในหมู่คนหนุ่มสาวทำให้โคบายาชินำเรื่องราวของตนเองมาเผยแพร่ในรูปแบบของการ์ตูน
"ประสบการณ์ของฉันเป็นเรื่องส่วนตัวมาก แต่ฉันรู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้คนจะได้รับรู้เกี่ยวกับมัน"
"คนในญี่ปุ่นและทั่วโลกจะต้องผ่านช่วงที่มีความคิดว่า 'การมีชีวิตอยู่เป็นเรื่องยาก' และฉันคิดว่าการ์ตูนของฉันจะช่วยให้คนเหล่านี้ได้เห็นว่าพวกเขาไม่ใช่คนเดียวที่รู้สึกแบบนี้" โคบายาชิกล่าว
การต่อสู้ที่ยังดำเนินอยู่
โคบายาชิเป็นตัวอย่างของผู้ที่มีปัญหาซับซ้อนที่เกี่ยวโยงกันระหว่างปัญหาสุขภาพจิตกับการฆ่าตัวตาย
องค์การอนามัยโลกชี้ว่า ความพยายามครั้งแรกคือปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดสำหรับการฆ่าตัวตายในคนทั่วไป และแม้เวลาจะผ่านมากว่า 20 ปีแล้ว นับจากความพยายามจบชีวิตตัวเองครั้งแรก แต่จนถึงบัดนี้โคบายาชิก็ยังคงต่อสู้กับความคิดที่จะฆ่าตัวตายอยู่
และบางครั้งความรู้สึกนี้ก็มีอย่างท่วมท้น
"เวลาที่ฉันรู้สึกโดดเดี่ยว หรือมีปัญหาในที่ทำงาน ฉันยังคงมีความรู้สึกอยากตาย" โคบายาชิ เล่า
ปัจจุบันเธอยังคงได้รับความช่วยเหลือด้านจิตเวช และได้สร้างกิจวัตรประจำวันเพื่อใช้รับมือกับความคิดแบบนี้
"เวลาที่ความคิดแบบนี้ผุดขึ้นมา ฉันจะพยายามนอนหลับให้เต็มอิ่ม กินของหวาน และดมกลิ่นหอม ๆ เพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น"
"นอกจากนี้ ฉันจะพยายามไม่อยู่คนเดียวนานจนเกินไปด้วย"
นี่คือเหตุผลที่ทำให้การพบปะกับแฟน ๆ เป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับเธอมาก
"ฉันเคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว และรู้ซึ้งถึงความเจ็บปวดและความสิ้นหวัง" นักวาดการ์ตูนผู้นี้กล่าว
"เวลาที่ผู้คนที่เคยพยายามฆ่าตัวตายเข้ามาพูดกับฉัน ฉันรู้สึกว่าการรอดตายมาได้ไม่ใช่เรื่องที่เปล่าประโยชน์"
ประสบการณ์ร่วม
โคบายาชิคิดว่าการมีประสบการณ์ลักษณะเดียวกันอาจมีประโยชน์ในการรับมือกับผู้ที่กำลังมีความคิดจะฆ่าตัวตาย มากกว่าการยื่นมือเข้าไปช่วยแบบที่ทำกันทั่วไป เช่น การให้คำปรึกษา หรือการให้ยา
โคบายาชิระบุว่า ญี่ปุ่นมีจำนวนคนไข้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวชจำนวนมาก และแพทย์มักใช้วิธีรักษาโดยการให้ยาอย่างแพร่หลาย
"แต่คนที่พยายามฆ่าตัวตายมีความรู้สึกว่าไม่สามารถบอกให้คนอื่นรู้ถึงสิ่งที่ตัวเองกำลังคิดอยู่ได้ เพราะคิดว่าคงไม่มีใครเข้าใจ" โคบายาชิกล่าว
"มันมีปัญหามากมายที่พัวพันกันอยู่ เช่น ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว ปัญหาการเงิน และความโดดเดี่ยว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่าย"
"การเพิกเฉยต่อความตั้งใจของคนที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตายไม่ใช่คำตอบในการแก้ปัญหา สิ่งสำคัญคือต้องเคารพสิ่งที่คนนั้นรู้สึกและให้ความช่วยเหลือในทุกขั้นตอน" โคบายาชิ อธิบาย
"ฉินคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับฉันที่จะออกไปข้างนอกเพื่อพบปะกับเพื่อนร่วมงานและพูดคุยกับเพื่อนของฉัน"
"ความรู้สึกอยากตายจะลดลงแค่ได้พูดคุยและหัวเราะกับใครสักคน"
ความขัดแย้งในครอบครัว
แม้โคบายาชิจะมองว่าการเปิดเผยประสบการณ์ของตัวเองมีประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้อื่น แต่มันก็เป็นประเด็นที่สร้างความขัดแย้งให้กับเธอ
ก่อนจะเขียนการ์ตูนเรื่องนี้ โคบายาชิได้เขียนหนังสือบอกเล่าปัญหาต่าง ๆ ของเธอ ซึ่งการเปิดเผยเรื่องนี้ต่อสังคมได้สร้างความไม่พอใจให้แก่พ่อของเธอมาก
"พ่อของฉันไม่เห็นด้วยกับการเอาปัญหาของตัวเองไปพูดในที่สาธารณะ เราไม่ค่อยลงรอยกันเท่าไหร่ และฉันก็ไม่ได้พบพ่อมากว่า 10 ปีแล้ว" เธอเล่า
นั่นหมายความว่าโคบายาชิไม่เคยได้รู้ว่าพ่อมีความคิดเห็นอย่างไรต่อผลงานการ์ตูนเรื่อง Diary of My Daily Failures ของเธอ
"ตอนเด็กฉันใฝ่ฝันว่าจะได้เข้าโรงเรียนสอนศิลปะ แต่พ่อไม่เห็นด้วย"
"พ่อบอกว่ามันเป็นเรื่องที่เสียเวลาและไม่เป็นประโยชน์สำหรับฉัน" โคบายาชิเล่าความทรงจำในวัยเด็ก
"ส่วนแม่ของฉัน มักดีใจทุกครั้งที่ฉันได้ปรากฏตัวในงานสังคมต่าง ๆ หรือได้อ่านงานเขียนของฉัน"
หนังสือการ์ตูนบอกเล่าชีวิตของโคบายาชิได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา ซึ่งรวมถึงภาษาอังกฤษ
บทเรียนจากโรคระบาด
ทางการญี่ปุ่นประกาศเมื่อช่วงต้นปีนี้ว่า อัตราการฆ่าตัวตายในประเทศเมื่อเดือน เม.ย. ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
หน่วยงานด้านสุขภาพจิตชี้ว่า ควรมองว่าการลดลงดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว จากการที่ภาครัฐดำเนินมาตรการต่าง ๆ เช่น การสั่งหยุดเรียน และลดชั่วโมงการทำงาน เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19
"เมื่อชีวิตกลับเข้าสู่ภาวะปกติ อัตราการฆ่าตัวตายก็อาจเพิ่มขึ้นอีกครั้ง" นักเขียนหญิงแสดงความกังวล
"นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น หากผู้คนกลับไปดำเนินชีวิตแบบเดิม"
โคบายาชิเชื่อว่าโรคระบาดครั้งนี้ได้ให้บทเรียนแก่ผู้คนในเรื่องการดูแลสุขภาพจิตของตัวเอง
"สิ่งที่เราได้เห็นคือการที่ผู้คนอาจมีความสงบสุขขึ้นมาอีกครั้ง จากการไม่เคร่งเครียดมากจนเกินไปในการเรียนหรือการทำงาน"
"อะไร ๆ จะดีขึ้นได้ ถ้าเราหยุดตั้งเป้าหมายไว้สูงเกินไป และดำเนินวิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อร่างกายและจิตใจมากขึ้น" เธอกล่าวทิ้งท้าย
หากคุณรู้สึกสิ้นหวังและต้องการใครสักคนเป็นเพื่อนพูดคุย สามารถโทรไปที่สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย 02-7136793 เวลา 12.00-22.00 น. หรือ สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323
September 10, 2020 at 07:10AM
https://ift.tt/35tbK7o
วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก: สาวญี่ปุ่นเล่าชีวิตที่เคยคิดสั้นผ่านมังงะ หวังสอนใจผู้คน - บีบีซีไทย
https://ift.tt/3dDNfpA
Bagikan Berita Ini
0 Response to "วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก: สาวญี่ปุ่นเล่าชีวิตที่เคยคิดสั้นผ่านมังงะ หวังสอนใจผู้คน - บีบีซีไทย"
Post a Comment