คยอง-มี (นามสมมุติ) ถูกล้อเลียนและข่มเหงรังแกทางออนไลน์ อีกทั้งยังถูกตำรวจและอัยการเกาหลีใต้สอบสวนนานหลายชั่วโมง หลังจากเธอกล่าวหาว่าแฟนหนุ่มที่เป็นศิลปินเค-ป็อป แอบถ่ายวิดีโอขณะที่เธอกับเขามีเพศสัมพันธ์กันโดยที่เธอไม่ยินยอม
หญิงสาวผู้นี้คือเหยื่ออาชญากรรมทางเพศผ่านสื่อดิจิทัล แต่เธอเล่าให้ ลอรา บิคเกอร์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำกรุงโซล ฟังว่า “ไม่มีใครรับฟังเธอเลย”
“ตอนนั้นฉันอยู่ในวัยเรียน ยังเด็ก และโดดเดี่ยวมาก ไม่มีใครอยู่ข้างฉันเลย” เธอเล่า
“ฉันอยากตายมาก แต่ทำไม่ได้…เพราะถ้าฉันตาย ก็จะไม่มีใครได้รู้ความจริงเกี่ยวกับ จอง จุนยอง”
จอง จุนยอง เป็นนักร้องเค-ป็อปชื่อดังที่มีแฟนเพลงทั่วเอเชียตะวันออก
คยอง-มี เล่าว่าเขาเป็นแฟนที่เอาใจใส่และช่างเอาอกเอาใจ จนกระทั่งเขาได้แอบถ่ายคลิประหว่างที่ทั้งคู่มีเพศสัมพันธ์กันโดยที่เธอไม่ยินยอม
คยอง-มี นำเรื่องนี้เข้าแจ้งตำรวจครั้งแรกในเดือน ส.ค. ปี 2016 แต่เธอบอกว่าตำรวจไม่ได้เข้ายึดโทรศัพท์ที่เขาใช้ก่อเหตุ ทำให้เธอต้องถอนแจ้งความดำเนินคดีในที่สุด
แม้ตอนนั้น คยอง-มี จะรู้ดีว่าการแจ้งความเอาผิดกับคนดังจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เธอไม่เคยคาดคิดว่าตัวเองจะถูกเจ้าหน้าที่ปฏิบัติราวกับเป็นผู้ถูกล่าวหาว่ากระทำผิดเสียเอง
“ตำรวจหญิงบอกไม่ให้ฉันแจ้งความ เธอบอกว่ามันยากที่จะดำเนินคดีกับคนดัง”
“จากนั้นอัยการเรียกตัวฉันไปสอบสวน ไม่ใช่เขา พวกเขา (อัยการ) เอาแต่ถามฉันว่า ‘พวกคุณถ่ายคลิปเก็บไว้ ไม่ใช่ว่าเพราะคุณชอบทำกันหรือ'”
“ฉันรู้สึกอับอาย และถูกขู่ให้กลัว จนฉันเองเริ่มคิดว่าฉันกำลังแจ้งความเอาผิดต่อผู้บริสุทธิ์”
หลังจากวันนั้น ต้องใช้เวลาอีก 3 ปีกว่าที่ความจริงอันน่าตกใจเกี่ยวกับศิลปินดังรายนี้จะถูกนำขึ้นสู่การพิจารณาคดีในชั้นศาล
ตำรวจเกาหลีใต้ได้รับเบาะแสเกี่ยวกับคลิปวิดีโอจำนวนมากในโทรศัพท์ของจอง จุนยอง ในปี 2019 และในที่สุดก็ออกหมายอายัดโทรศัพท์ดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเขาได้แอบถ่ายคลิปตัวเองกำลังมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง 12 คน ซึ่งรวมถึงคยอง-มี แล้วส่งต่อคลิปเหล่านั้นให้เพื่อน ๆ ศิลปินดูในกลุ่มแชต
จอง จุนยอง ได้ยอมรับว่าทำผิดจริง พร้อมประกาศอำลาวงการบันเทิงในปี 2019 และปัจจุบันกำลังรับโทษจำคุกเป็นเวลา 5 ปี
โฆษกตำรวจเกาหลีใต้บอกกับบีบีซีว่า เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในคดีของคยอง-มี กำลังถูกสอบสวน
คำพูดอาจฆ่าคนได้
นับตั้งแต่จอง จุนยอง ถูกจำคุก คยอง-มี ก็ได้รับความช่วยเหลือและการสนับสนุนบ้าง แต่หากย้อนกลับไปในปี 2016 ตอนที่เธอเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเขา เธอกลับถูกโจมตีและคุกคามอย่างหนักทางออนไลน์ รวมทั้งจากคนใกล้ตัวของเธอเอง
“เพื่อน ๆ บอกว่าฉันทำลายชีวิตของจอง จุนยอง และไม่ว่าฉันจะเป็นทุกข์แค่ไหน แต่สื่อก็ยังเล่นข่าวของฉันตลอดเวลา”
“คนทั้งประเทศพูดเกี่ยวกับฉัน ไม่มีใครปกป้องฉันเลย”
คยอง-มี เรียกประสบการณ์ที่ตกเป็นจำเลยสังคมนี้ว่า “การตกเป็นเหยื่อซ้ำสอง” ซึ่งสังคมกล่าวโทษผู้ตกเป็นเหยื่อ แทนที่จะตำหนิผู้กระทำผิด
“การแสดงความเห็นจากความเกลียดชังเหล่านี้สามารถฆ่าผู้หญิงได้” เธอบอก
ตราบาปจากสังคม
น่าเศร้าที่ประสบการณ์เลวร้ายที่คยอง-มี ได้พบเจอไม่ใช่เรื่องแปลกในเกาหลีใต้
องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากเหยื่ออาชญากรรมทางเพศผ่านสื่อดิจิทัล และพบว่าคนเหล่านี้ต้องเผชิญอุปสรรคใหญ่ในกระบวนการยุติธรรม
มีข้อมูลว่า ระหว่างปี 2013 – 2018 มีการแจ้งความเหตุใช้กล้องแอบถ่ายภาพลามกอนาจารของผู้หญิงหรือเด็กหญิงในเกาหลีใต้กว่า 30,000 คดี
เฮเธอร์ บาร์ ผู้จัดทำรายงานฉบับดังกล่าวของฮิวแมนไรท์วอทช์ บอกกับบีบีซีว่า “เหยื่อที่เราสัมภาษณ์มีประสบการณ์เลวร้ายกับตำรวจคล้าย ๆ กัน”
บาร์ บอกว่า ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมประเภทนี้มักถูกตำรวจปฏิเสธรับแจ้งความ บางรายถูกปฏิเสธซ้ำหลายครั้ง หลายคนถูกสอบปากคำเกี่ยวกับประเด็นละเอียดอ่อนในพื้นที่สาธารณะเป็นเวลาหลายชั่วโมง ถูกตำรวจรังแกให้ถอนแจ้งความ และถูกขู่จะเอาผิดฐานหมิ่นประมาทหากไม่ทำตาม
“เรายังได้ยินเรื่องที่ตำรวจเก็บภาพถ่ายส่วนตัวที่เหยื่อให้ไว้เป็นหลักฐาน แล้วเอาไปเผยแพร่ทั่วโรงพักเป็นเรื่องสนุกในหมู่เพื่อนตำรวจ”
บีบีซีติดต่อไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกาหลีใต้เกี่ยวกับเรื่องนี้ และโฆษกได้ออกหนังสือแถลงการณ์ว่าปัจจุบันได้มีการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหานี้ รวมทั้งได้มีการตั้งทีมสอบสวนอาชญากรรมทางไซเบอร์ขึ้นในทุกเมืองและทุกจังหวัดทั่วประเทศ
นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจยังให้คำมั่นจะจัดการอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่สม่ำเสมอ และจัดพนักงานสอบสวนเพศเดียวกับเหยื่อเพื่อให้ผู้เสียหายรู้สึกสบายใจยิ่งขึ้น รวมทั้งมีการตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่อด้วย
สร้างความตระหนักรู้ในสังคม
รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ ซึ่งสำรวจความเห็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศผ่านสื่อดิจิทัลกว่า 500 ราย พบว่าประสบการณ์นี้ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรง และนำไปสู่ความคิดฆ่าตัวตาย ยกตัวอย่าง หญิงสาวคนหนึ่งที่ตัดสินใจปลิดชีพตัวเองหลังจากถูกเพื่อนร่วมงานแอบถ่ายในห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถหลุดพ้นจากตราบาปที่เกิดจากการถูกล่วงละเมิดนี้ไปได้
คยอง-มี อยากให้สังคมเกาหลีใต้ได้ใคร่ครวญว่าพวกเขาควรมองเหยื่ออาชญากรรมทางเพศผ่านสื่อดิจิทัลอย่างไร
“เหยื่อไม่ใช่คนต่ำต้อยที่พวกคุณจะปฏิบัติไม่ดีได้ และพวกเขาก็ไม่ได้ตกเป็นเหยื่อจากความโง่เขลาหรือความอ่อนต่อโลก…แต่เป็นเพราะพวกเขาโชคร้าย พวกคุณเองก็อาจตกเป็นเหยื่อได้เหมือนกัน ถ้าคุณไม่โชคดีพอ”
หลังเผชิญกับประสบการณ์เลวร้าย เธอตัดสินใจปลีกวิเวกไปอยู่ในชนบท เพื่อเยียวยาจิตใจตัวเอง
“ฉันลาออกจากโรงเรียนในขณะที่รับความช่วยเหลือจากจิตแพทย์ ฉันย้ายไปอยู่ในชนบทที่ไม่มีใครรู้จักฉัน และอ่านหนังสือเป็นพัน ๆ เล่มอยู่เงียบ ๆ คนเดียว…และการพูดคุยกับเหยื่อความรุนแรงทางเพศคนอื่น ๆ ก็ช่วยเยียวยาฉันด้วย” คยอง-มี เล่า
“ฉันทนความเจ็บปวดนี้ด้วยความหวังว่าความจริงจะปรากฏขึ้นสักวันหนึ่ง และสังคมจะมีความตระหนักรู้มากขึ้น”
“สังคมเกาหลีจำเป็นต้องทำมากกว่าแค่รับรู้ความเจ็บปวดของเหยื่อ และจัดตั้งระบบที่ช่วยคุ้มครองเหยื่อในทางกฎหมาย” เธอกล่าว
กระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้บอกกับบีบีซีว่า ได้มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการลงโทษผู้ก่ออาชญากรรมทางเพศผ่านสื่อดิจิทัลให้มีความรุนแรงขึ้นกว่าในอดีตที่มักเป็นการตัดสินให้รอลงอาญา หรือเสียค่าปรับ เพื่อให้สาสมกับโทษที่ก่อและความทุกข์ที่เหยื่อต้องเผชิญ โดยเริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เดือน ม.ค.ปีนี้
อ่านบทความและอื่น ๆ ( จอง จุนยอง: เหยื่อสาวคลิปแอบถ่ายกับตราบาปที่ตามหลอกหลอนไม่จบสิ้น - ข่าวสด )https://ift.tt/3cOitvI
บันเทิง
Bagikan Berita Ini
0 Response to "จอง จุนยอง: เหยื่อสาวคลิปแอบถ่ายกับตราบาปที่ตามหลอกหลอนไม่จบสิ้น - ข่าวสด"
Post a Comment