- วีรวัฒน์ อัจจุตมานัส
- นักเขียนอิสระ
กว่า 3 ปีที่ บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของช่อง 3 อยู่ในภาวะขาดทุน ทั้งจากความบอบช้ำจากการประมูลระบบทีวีดิจิทัล พฤติกรรมคนดูที่เปลี่ยนไป และรายได้จากการโฆษณาที่ลดลงเพราะคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น
จนกระทั่้งปี 2564 ช่อง 3 ก็พลิกกลับมาทำกำไรอีกครั้ง ภายใต้การบริหารของ "เหล้าเก่าในขวดใหม่" สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์
สุรินทร์เคยทำงานที่ช่อง 3 ยาวนานถึง 12 ปี ก่อนลาออกไปในปี 2560 เขาเคยผ่านยุคที่รุ่งเรืองถึงขีดสุดอย่างในปี 2556 ที่ บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ช่อง 3 เคยทำรายได้สูงสุดถึง 16,637 ล้านบาท และมีกำไรถึง 5,589 ล้านบาท
เขากลับมาในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการสายงานธุรกิจทีวี 1 ก.ค. 2563 ในวันที่บริษัทขาดทุน 214 ล้านบาท พร้อมกับพกพาแนวความคิดใหม่ที่ไม่ได้มองช่อง 3 เป็นเพียงสถานีโทรทัศน์อีกต่อไป แต่เป็นผู้ธุรกิจการผลิตเนื้อหาและรายการ เขาทำให้ช่อง 3 พลิกกลับมาทำกำไรติดกันได้ถึง 6 ไตรมาสจนผลประกอบการประจำปี 2564 มีกำไร 761 ล้านบาท
บีบีซีไทยมาคุยกับผู้บริหารหนุ่มที่วาดฝันจะทำให้ช่อง 3 กลายเป็นผู้นำด้านคอนเทนต์และธุรกิจบันเทิง หลังกลับสู่รังเก่ามาเกือบ 2 ปี
"คุ้มค่าทุกนาที" ไม่ต้องดูผ่านแค่ 'ทีวี' อีกต่อไป
สุรินทร์ให้เครดิตผู้บริหารชุดเก่า ๆ ที่พยายามทำมาตลอดในการลดขนาดองค์กร ทำให้ต้นทุนเรื่องคนลดลง แต่มาสำเร็จในยุุคของเขา
"ส่วนที่ผมเข้ามาทำอย่างจริงจังคือการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของสถานีและทัศนคติของคนในองค์กร หาช่องทางใหม่ ๆ จากคอนเทนต์ที่ลงทุนเพียงครั้งเดียว แต่หารายได้จากหลายช่องทางที่ผมเรียกมันว่า Single Content Multiple Platform"
สุรินท์ขยายความแนวคิดนี้ว่าแม้จะเป็นคอนเทนต์ของช่อง 3 แต่ก็ไม่จำเป็นต้องดูที่หน้าจอของช่อง 3 แต่ไปโดดเด่นในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ดังนั้นบริการ OTT ( Over the Top) หรือบริการรับชมเนื้อหา ผ่านทางแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต ที่เคยถูกมองว่าเป็นคู่แข่งแย่งฐานคนดูก็กลายมาเป็นคู่ค้าที่สามารถหารายได้เพิ่มจากการลงทุนผลิตเนื้อหาเพียงครั้งเดียว
ในขณะเดียวกันช่อง 3 ก็พยายามสร้าง CH3 Plus ออนไลน์แพลตฟอร์มของตัวเองมีทั้งแบบที่ไม่ต้องจ่ายเงินและ CH3 Plus Premuim แบบเสียค่าสมาชิกโดยไม่ต้องดูโฆษณา และก็มีคอนเทนต์พิเศษมีให้เลือกชมมากกว่า โดยในปีที่ผ่านมามีจำนวนผู้ชม 12 ล้านคนและมียอดวิว 170 ล้านวิวต่อเดือน ซึ่งเขามองว่านี่คืออนาคตที่พฤติกรรมคนดูจะเปลี่ยนเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้น
ปรับคอนเทนต์ละครในโลกไร้พรมแดน
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของช่อง 3 มองเห็นตั้งแต่เนื้อหาของช่อง 3 ไปปรากฎตามแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อสร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่ง เนื้อหาของละครที่ค่อย ๆ เปลี่ยนให้มีความหลากหลายขึ้นกว่าเก่า เพราะในวันนี้กลุ่มคนดูละครช่อง 3 ไม่ได้อยู่แค่ในเมืองไทยอีกต่อไป
สุรินทร์เล่าว่ากลยุทธ์การเลือกผลิตละครของช่อง 3 เปลี่ยนไปในแง่ของการมองตลาดทั้งในและต่างประเทศ ในปัจจุบันช่อง 3 ผลิตละครปีละกว่า 30 เรื่อง ไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะสตรีมบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ หรือส่งออกนอกประเทศได้ ส่วนหนึ่งก็ยังต้องสร้างละครสูตรที่ถูกจริตกลุ่มคนไทยส่วนใหญ่ แต่อย่างน้อยต้องมีตัวเลือกที่มากพอที่จะส่งออกไปต่างประเทศได้ด้วย จากนั้นก็ต้องเริ่มทำงานให้ตอบโจทย์ตลาดที่ต้องการจะส่งออกไปตั้งแต่วันแรกที่เริ่มผลิต เขายกตัวอย่างประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของบีอีซี เวิลด์ ที่มีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ห้ามทำเรื่องผี เรื่องรักร่วมเพศ และต้องไม่มีผู้ชายที่แต่งตัวแฟชั่นจัดจ้านเหล่านี้คือรายละเอียดที่ต้องเรียนรู้และก้าวไปข้างหน้าพร้อมกัน
"ละครของ 3 พยายามที่จะออกอากาศที่จีนพร้อมกับไทย จึงต้องอาศัยความเป็นมืออาชีพด้วยเพราะเขามีระบบเซ็นเซอร์ที่เข้มงวดต้องใช้เวลา 3-4 เดือน กว่าจะผ่านเซ็นเซอร์ของเขา ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่ละครถ่ายไปออกอากาศไปจะไปขายในต่างประเทศ และทุก ประเทศก็จะมีกฏกติกาไม่เหมือนกัน เราจะขายกับสตรีมมิ่งเซอร์วิสก็ต้องรู้ว่า เงื่อนไขในการค้าเป็นอย่างไร ต้องส่งไปให้ตรงกับสิ่งที่เขาต้องการ"
นอกจากจีนที่เป็นตลาดใหญ่ ปัจจุบัน ช่อง 3 ยังส่งละครไปที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านที่เปิดรับละครไทยมาอย่างยาวนานเพียงแต่ขนาดตลาดอาจไม่ใหญ่เท่ากับ 3 ประเทศเอเชียตะวันออก เขามองว่าปัจจุบันละครไทยคือผู้แข่งขันระดับในภูมิภาค แต่ก็มีโอกาสที่จะก้าวไปในระดับโลก เพียงแต่ต้องใส่ความเป็นสากลซึ่งเป็นหนึ่งในโจทย์ที่เขาสื่อสารไปยังผู้จัดละครต่าง ๆ ให้เลือกสรรเนื้อหาที่มีความหลากหลายกว่าเดิม
"ละครไทยเวลาดูก็รู้เลยว่านางร้ายนี่ร้ายจริงๆ ตั้งแต่เห็นหน้าตา ท่าทาง เสียง คนไทยอาจจะมีจริตว่านางร้ายมันต้องร้ายแบบนี้ ต้องกรีดร้อง ต้องทุบตี แต่อาจจะไม่ใช่นางร้ายของคนจีนหรือญี่ปุ่น สิ่งเหล่านี้ถ้าต้องการเป็นสากลมากขึ้นก็ต้องปรับ"
สุรินทร์ยอมรับว่า ณ วันนี้ ช่อง 3 ยังเป็นผู้ผลิตแบบเกาหลีใต้ไม่ได้ "เพราะว่าความเป็นสากลของเรายังไม่ได้" ยังขายออกไปไม่ได้ทั่วโลก เบื้องต้นขายให้ผู้ให้บริการสตรีมมิ่ง 7-10 ประเทศ
ขณะที่ส่งละครออกไปนอกประเทศ ช่อง 3 ก็ซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์จากต่างประเทศมาผลิตในภาคภาษาไทย เช่น ปี 2562 ช่อง 3 สร้าง ลิขิตรักข้ามดวงดาว จากซีรีส์เกาหลีใต้เรื่อง You Who Came from the Stars และในปี 2564 ก็ซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์ตุรกีเรื่อง Ölene Kadar มาสร้างเป็นละครเรื่อง บาปอยุติธรรม ทั้งสองเรื่องได้รับกระแสตอบรับเงียบเหงาจนน่าใจหาย อย่างไรก็ดีล่าสุดช่อง 3 ได้ลงนามความร่วมมือกับ BBC Studios ผลิต Doctor Foster บทประพันธ์ของ Mike Bartlett ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในสหราชอาณาจักรและถูกนำไปสร้างเป็นซีรีส์ในเวอร์ชั่นต่าง ๆ ทั้ง ฝรั่งเศส, รัสเซีย, อินเดีย, เกาหลีใต้, ตุรกี, ฟิลิปปินส์ โดยไทยจะเป็นประเทศลำดับที่ 7 ที่จะผลิตซีรีส์เรื่องนี้ในเวอร์ชั่นของตัวเอง
ก่อนหน้านี้ Doctor Foster เวอร์ชั่นเกาหลีใต้ในชื่อ The World of the Married เป็นหนึ่งในซีรีส์ฮิตของผู้ชมชาวไทย จนคนดูคงอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบกับเวอร์ชั่นยอดนิยม โดยสุรินทร์ก็ทราบข้อนี้ดี แต่เขาก็มั่นใจว่านี่จะเป็นการเปิดมุมมองใหม่ทั้งจากฝั่งผู้ผลิตและผู้ชมละครช่อง 3
"Doctor Foster เป็นละครที่เราคาดหวังไว้สูง แล้วก็การร่วมมือกับทางอังกฤษ ซึ่งเขาก็จะค่อนข้างเข้มงวดในขั้นตอนต่าง ๆ ที่ผมคิดว่ามันก็จะมีทักษะการทำงานใหม่ๆ ที่จะได้เรียนรู้ รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้คนดูช่อง 3 ได้ดูละครที่ไม่ใช่บทประพันธ์ไทยอย่างเดียว"
ดึงคนดูใหม่ รักษาฐานคนดูเดิม
ปัจจุบันคนดูกลุ่มหลักของละครช่อง 3 คือผู้หญิงอายุ 39 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มของคนที่มีกำลังซื้อ และเป็นฐานคนดูยังมีความสุขที่จะดูละครผ่านโทรทัศน์ในห้องนั่งเล่นพร้อมกับครอบครัว ซึ่งสุรินทร์มองว่านี่คือภาพลักษณ์ที่ดี ในขณะเดียวกันก็ต้องเร่งสร้างฐานคนดูรุ่นใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 15- 24 ปีเพื่อความยั่งยืนในอนาคต ดังนั้นจึงต้องดึงคนดูกลุ่มใหม่ให้มาเป็นแฟนละครช่อง 3 และรักษาฐานคนดูเอาไว้ให้ได้กลายเป็นภารกิจที่เขาต้องวางกลยุทธ์
ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาช่อง 3 เปิดตัว คุณหมีปาฎิหารย์ ละครซีรีส์วายที่ออกอากาศในช่วงเวลาไพร์มไทม์เรื่องแรกที่ช่อง 3 ลงทุนทำเอง หลังจากที่ก่อนหน้านี้เปิดให้ผู้จัดเช่าช่วงเวลาออกอากาศซีรีส์วายในช่วงดึกซึ่งค่อนข้างประสบความสำเร็จในกลุ่มคนรุ่นใหม่
คุณหมีปาฏิหารย์ ถูกวางให้เป็นละครฟอร์มใหญ่ พร้อมทั้งผลิตสมุดภาพและของที่ระลึก และขายลิขสิทธิ์สตรีมมิ่งให้กับเน็ตฟลิกซ์ใน 25 พื้นที่ทั่วเอเชีย แต่ผลตอบรับด้านเรตติ้งผ่านหน้าจอทีวีกลับอยู่ที่ตัวเลข 0-1 กว่าๆ ต่ำกว่าละครหลังข่าวแทบทุกเรื่องที่เคยมีมา
"การที่เราทำทีวีมา 52 ปีก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องทำทีวีแบบเดิมตลอดไป เราอยากให้คนดูรุ่นใหม่กลับมาดูทีวี ก็ควรที่จะเสี่ยง" สุรินทร์กล่าว
เขาเสริมว่า การทดลองเอาละครเฉพาะกลุ่มมาออกอากาศในช่วงเวลาที่คนกลุ่มใหญ่ สิ่งที่ออกมาก็คือ "ความแมสของละครมันหายไป เราได้คนดูกลุ่มเดิมของช่อง 3 น้อยกว่าละครเรื่องอื่น ๆ" แต่ก็ได้กระแสตอบรับดีจากกลุ่มคนที่ดูซีรีส์วาย ติดอันดับทวิตเตอร์อยู่ตลอด
"ผมคิดว่าของบางอย่างการที่คนดูน้อยไม่ได้หมายความว่ามันไม่ดี แต่ว่าอาจจะเป็นความคาดหวังของคนว่า ช่อง 3 จะเอามาลงตอนสองทุ่มครึ่งเคยเห็นแต่ตอนห้าทุ่ม ช่วงนี้ยังเป็นช่วงของการทดลอง ยกตัวอย่างละครบางเรื่องเราคาดหวังว่าจะมีคนดูเยอะก็ไม่ได้อย่างที่เราคิด ยังต้องลองผิดลองถูก เรียนรู้และก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน"
หลังจากคุณหมีปาฎิหาริย์ที่เป็นละครวาย ช่อง 3 มีแผนทำละครอีก 2 เรื่องเกี่ยวกับ LGBTQ+ คือ มาตาลดา ที่ว่าด้วยเรื่องของหญิงสาวที่เติบโตโดยมีพ่อเป็นนางโชว์ และรากแก้ว ละครที่ว่าด้วยเรื่องเลสเบี้ยนและการเลี้ยงเด็กเพื่อผลประโยชน์ทางเพศ โดยสุรินทร์มองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นสมัยใหม่ที่นำมาพูดได้ในละคร
เขาตัวอย่าง เรื่องรากแก้ว เป็นครั้งแรกที่ Change 2561 ของพี่ฉอด หรือ สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา มาร่วมงานกับช่อง 3 นอกจากนี้ก็ยังมีผู้จัดใหม่อื่น ๆ เข้ามาอีก
"ผมคิดว่าเรื่อง LGBTQ+ เป็นเรื่องของยุคสมัยด้วย ในขณะที่เราเป็นสื่อกระแสหลัก มีฐานคนดูค่อนข้างชัดเจน เราเปลี่ยนได้ แต่ไม่เปลี่ยนแบบ 360 องศา เพราะยังอยู่ในระบบออฟไลน์ของโทรทัศน์ ภายใต้การกำกับที่เข้มงวดของ กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) แต่ทำให้โมเดิร์นขึ้นได้ในแพลตฟอร์มอย่าง CH 3 Plus ที่จะเป็นช่องทางให้ละครแนวนี้ของเราไปโชว์เวอร์ชั่น Uncut, Director Cut หรือฉาก Unseen ต่างๆ "
ในปีนี้ช่อง 3 ยังก้าวเข้าสู่ธุรกิจเพลงและภาพยนตร์ โดยเมื่อเดือนมกราคม แต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์ นักแสดงในสังกัดช่อง 3 ได้ออกซิงเกิลเพลง BABYBOO และยังมีนักแสดงอีก 5 คนที่กำลังจะปล่อยเพลงออกมาอีก 7-8 เพลงภายในปีนี้ ส่วนในเดือนกุมภาพันธ์ก็ประกาศความร่วมมือกับ M Picture ผลิตภาพยนตร์เรื่อง บัวผันฟันยับ เป็นส่วนหนึ่งที่ย้ำภาพว่าบีอีซี เวิล์ดหรือช่อง 3 ได้ก้าวเข้าสู่การผลิตเนื้อหาบันเทิงครบวงจร
"เราอยากเป็นผู้นำของธุรกิจบันเทิงทั้งหมด อย่างการผลิตภาพยนตร์มาจากที่เรามองเห็นเป็นโอกาส เพราะดูจากสถิติ 70% ของดาราที่แสดงภาพยนตร์อยู่ในขณะนี้เป็นดาราของเรา ข้อดีที่เราทำภาพยนตร์เองก็คือเราได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์และคอนเท็ตน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวของหนังด้วย อย่างเบื้องหลังการถ่ายทำ ของที่ระลึกต่างๆ ผมคิดว่ามันจะเติมเต็มภาพลักษณ์ว่าเราไม่ใช่แค่ทีวีอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว"
กับคำถามสุดท้ายว่าเป็นไปได้ไหมที่ช่อง 3 จะกลับไปสู่อดีตอันหอมหวานทำกำไรระดับ 5 พันล้านบาทเหมือนในปี 2556 ได้อีกครั้งหรือไม่ สุรินทร์ตอบพร้อมกับเสียงหัวเราะ "มีโอกาสเป็นไปได้ แต่คงไม่ใช่วิธีเดิม"
https://ift.tt/06KipTt
บันเทิง
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ช่อง 3 กับความพยายามของ สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ ชวนคนรุ่นใหม่ดูทีวี - บีบีซีไทย"
Post a Comment